วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้


                อัชรา เอิบสุขสิริ (2556:106) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า "การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่
                1.ลักษณะของผู้เรียนอันประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพ จิตใจ สติปัญญา จริยธรรมค่านิยม แรงจูงใจ พฤติกรรมส่วนตัว พฤติกรรมกลุ่ม ความต้องการพิเศษ เพศ และวัฒนธรรมที่ติดตัวมา
                2.ลักษณะของผู้สอนอันประกอบด้วยเจตคติต่อการเรียนรู้ เจตคติต่อผู้เรียน เจตคติต่อตนเอง และความเข้าใจในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                3.กลยุทธ์ในการสอนอันประกอบด้วยการนำทฤษฎีการเรียนรู้มาปฏิบัติจริง วิธีสอนและต้นแบบ วิธีสอนเฉพาะรายบุคคล แผนการสอน เทคนิคที่หลากหลาย วินัยของผู้เรียน การใช้แบบทดสอบ
               4.เนื้อหาวิชาอันประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญ แนวคิดพื้นฐานของเนื้อหาที่จะสอน ลำดับของเนื้อหา การเลือกเนื้อหาในการสอน ระดับความสำคัญของเนื้อหาในแต่ละส่วน ฯลฯ "

               อารี พันธ์มณี (2534:88-89)ได้รวบรวมองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ของ ดอลลาร์ด,มิลเลอร์ และชูชีพ  อ่อนโคกสูง ไว้ดังนี้
              ดอลลาร์ด  และมิลเลอร์ (Dollard and Miller) กล่าวว่า การเรียนรู้ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ดังนี้   (อ้างจาก อเนกกุล  กรีแสง 2522)
              1.แรงขับ (Drive) เกิดขึ้นเมื่ออินทรีย์ (Organism) ขาดสมดุลเช่น ขาดอาหาร ขาดน้ำ ขาดการพักผ่อน ฯลฯ ภาวะเหล่านี้จะกระตุ้นให้อินทรีย์แสดงพฤติกรรมเพื่อปรับให้อินทรีย์อยู่ในสภาพสมดุลอย่างเดิม แรงขับมีอยู่ 2 ประเภท คือ
                          1.1  แรงขับพื้นฐาน เกิดเนื่องจากความต้องการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเป้นความต้องการทางร่างกายต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการมีชีวิตของคุณ
                          1.2 แรงขับที่เกิดจากการเรียนรู้ เกิดขึ้นภายหลังเป็นความต้องการทางสังคม เช่น  ความรัก ฐานะทางสังคม   ความมั่นคงปลอดภัย

              2.สิ่งเร้า เป็นสิ่งที่จะกระตุ้นให้อินทรีย์แสดงกิจกรรมโต้ตอบออกมา เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมตอบสนองของร่างกาย
              3.การตอบสนอง เป็นพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่อินทรีย์แสดงออกเมื่อมีสิ่งเร้าไปเร้า
              4.การเสริมแรง   เป็นการทำให้สิ่งเร้าและการตอบสนองมีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อนักเรียนทำเลขถูกก็เสริมแรงโดยให้รางวัล การเสริมแรงนี้จะทำให้นักเรียนอยากเรียน(ทำเลข)ในคราวต่อไป
          
              ชูชีพ  อ่อนโคกสูง  (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2518) กล่าวว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานอย่างน้อยที่สุด  4 ประการด้วยกัน  ดังนี้
              1. แรงจูงใจ (Motive) ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ร่างกายย่อมมีความต้องการต่างๆ เมื่อใดที่ร่างกายเกิดความต้องการหรือเกิดความไม่สมดุลขึ้น  จะมีแรงขับ (Drive) หรือแรงจูงใจ (Motive) เกิดขึ้นภายในอินทรีย์ผลักดันให้สิ่งที่หายไปนั้นมาให้ร่างกายอยู่ในภาวะพอดี  แรงจูงใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้เพราะเป็นตัวจักรสำคัญหรือเป็นต้นตอที่แท้จริงของพฤติกรรม
              
2. สิ่งจูงใจ (Incentive) สิ่งจูงใจเป็นสิ่งที่จะลดความเครียด  และนำไปสู่ความพอใจ  นักจิตวิทยาเชื่อว่า  สิ่งจูงใจจะเป็นศูนย์กลางหรือหัวใจของการเรียนรู้ เขาถือว่าแรงจูงใจซึ่งถือว่าเป็นภาวะภายในของอินทรีย์และกิจกรรมต่างๆล้วนเกิดขึ้นจากสิ่งจูงใจทั้งสิ้น
             
3.อุปสรรค (A Barrier or Block)นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการเรียนรู้  เพราะอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางอย่อมทำให้เกิดปัญหา  การที่ผู้เรียนเกิดปัญหาจะทำให้ผู้เรียนพยายามทำซ้ำๆ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  เพื่อจะฟันฝ่าอุปสรรคนั้นไปสู่เป้าหมายให้ได้
             
4. กิจกรรม (Activity) กิจกรรมหรือการตอบสนองของอินทรีย์เราทราบว่าใครเกิดการเรียนรู้หรือไม่เพียงใด ช้าหรือเร็วอย่างไร และเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิง(Infer)ไปถึงความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจที่ซ่อนเร้นอยู่  เราจะสังเกตเห็นว่าคนเรามักจะชอบประกอบกิจกรรมที่นำความสำเร็จ  หรือความพอใจมาให้ซ้ำๆอยู่เสมอ  แม้ว่าจะไม่เจอปัญหาใหม่ๆ ส่วนกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ไม่เคยนำความสำเร็จมาให้นั้นมักจะหลีกเลี่ยง

             
              Pichaikum (http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.htmlได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ไว้ดังนี้
              1. ผู้สอน เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการที่จะแปลมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ที่เป็น
ตัวหนังสือให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม น่าสนใจ และมีกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธีอย่างอิสระ จะต้องรู้จักเลือกปรับปรุงเทคนิคและวิธีการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียนโดยไม่ใช้วิธีการเดียว ควรมีการดัดแปลงและเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
               2. ผู้เรียน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา ความถนัด ความสนใจและความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้เรียนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมวางแผนในการจัดการเรียนการสอน และมีโอกาสเลือกวิธีเรียนได้อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมภายใต้การแนะนำของผู้สอน
               3. เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
               4. สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
               5. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีวิธีการที่จะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางวิชาการ เช่น จัดห้องชวนคิด ห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ จัดระบบนิเวศจำลอง จัดบริเวณโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีววิทยา ธรณีวิทยา ฯลฯ มีการดัดแปลงห้องเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดี และจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย

สรุป                               
              จากการที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ ทำให้สามารถสรุปได้ว่าองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ จะประกอบไปด้วย
               1. ผู้สอน มีลักษณะเป็นผู้ที่มีเจตคติต่อการเรียนรู้ เจตคติต่อผู้เรียน และเจตคติต่อตนเองที่ดี จะเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยจะต้องจัดกิจกรรมให้เหมาะสม น่าสนใจ และมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย จะต้องรู้จักเลือกปรับปรุงเทคนิค วิธีการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับเนื้อหา ผู้สอนควรจะมีการเสริมแรงเพื่อเป็นการทำให้ผู้เรียนเกิดการอยากเรียน อีกทั้งผู้สอนควรจะดัดแปลงและเลือกใช้วิธีการในการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้               
               2.
 ผู้เรียน มีลักษณะอันประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพ จิตใจ สติปัญญา บุคลิกภาพ ความถนัด ความสนใจ จริยธรรมค่านิยม แรงจูงใจ พฤติกรรมส่วนตัว พฤติกรรมกลุ่ม ความต้องการพิเศษ เพศ และวัฒนธรรมที่ติดตัวมาที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งผู้เรียนถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ โดยผู้เรียนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมวางแผนในการจัดการเรียนการสอน และมีโอกาสเลือกวิธีเรียนได้อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมภายใต้การแนะนำของผู้สอน
                3. บทเรียนหรือเนื้อหาวิชาต่างๆ จะมีลักษณะอันประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญ แนวคิดพื้นฐานของเนื้อหาที่จะสอน ลำดับของเนื้อหา การเลือกเนื้อหาในการสอน ระดับความสำคัญของเนื้อหาในแต่ละส่วน ฯลฯ ซึ่งผู้สอนจะต้องหาสิ่งจูงใจใส่ในเนื้อหา และควรจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
                 4.
 สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้อีกประการหนึ่ง ซึ่งสื่อควรจะทำให้มีสิ่งจูงใจ เพื่อทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ดังนั้นสื่อถือเป็นสิ่งเร้าที่เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                 5.
 สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนจะต้องกลยุทธ์ในการสอนอันประกอบด้วยการนำทฤษฎีการเรียนรู้มาปฏิบัติจริง วิธีสอนและต้นแบบ วิธีสอนเฉพาะรายบุคคล แผนการสอน เทคนิคที่หลากหลาย วินัยของผู้เรียน การใช้แบบทดสอบ อีกทั้งบรรยากาศการเรียนรู้ต้องมีวิธีการที่จะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางวิชาการ มีการดัดแปลงห้องเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดี และจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย
ที่มา:

                 อัชรา เอิบสุขสิริ.(2556).จิตวิทยาสำหรับครู.กรุงเทพ:บริษัท วี.พริ้น (1991) จำกัด.
                 อารี พันธ์มณี.(2534).จิตวิทยาการเรียนการสอน.กรุงเทพฯ:บริษัท เลิฟแอนด์ลิฟเพลส จำกัด.
                 
Pichaikum.[online] http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html.องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้. สืบค้น                                  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น